ภาษีปี 2562 : UPDATE "หักค่าใช้จ่าย" รายได้แต่ละประเภท

4409 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาษีปี 2562 : UPDATE "หักค่าใช้จ่าย" รายได้แต่ละประเภท

ช่วงต้นปีจะเป็นฤดูกาลที่พวกเราจะต้องเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้วนะคะ วางแผน.com ขอ Update ข้อมูลกันหน่อยค่ะ

เริ่มต้นที่ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายของรายได้แต่ละประเภทก่อนนะคะ ในการคำนวณภาษีส่วนใหญ่ก็จะเริ่มต้นที่การระบุว่ารายได้แต่ละรายการของเราจะจัดอยู่ในรายได้ประเภทอะไร ซึ่งตามกฎหมายทางสรรพากรได้แบ่งเงินที่จะยื่นภาษีหรือที่เรียกว่าเงินได้พึงประเมินไว้ 8 ประเภทได้แก่

1. รายได้จากการจ้างงาน หรือจ้างแรงงาน หรือจะเป็นประโยชน์ที่สามารถคิดเป็นเงินหรือเงินต่างๆ ที่ได้จากการจ้างแรงงาน

ซึ่งก็คือ เงินเดือน โบนัส บำนาญ บำเหน็จ เรามักเรียกผู้จ้างงานว่านายจ้าง และเรียกตัวเราเองว่าลูกจ้าง

2. รายได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้ เงินได้ในข้อนี้จะเป็นเงินได้ที่ได้จากการรับจ้างทำของหรือรับจ้างทำงานต่างๆ

เช่น ค่าจ้าง ค่านายหน้า เบี้ยประชุม ค่าธรรมเนียม ค่าสอนหนังสือ เรามักเรียกผู้จ้างงานว่าผู้ว่าจ้าง และเรียกตัวเราเองว่าผู้รับจ้าง

ข้อแตกต่างของรายได้ข้อ 1 และรายได้ข้อ 2 หลักๆ ก็คือ
รายได้ข้อ 2 จะมีอิสระในการทำงาน ลักษณะงานขึ้นอยู่กับตนเองเป็นหลัก และมักจะได้รับเงินค่าจ้างเมื่อทำงานสำเร็จแล้ว

3. รายได้จากทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนต่างๆ

เช่น รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา พวกค่ากู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ เงินปีพินัยกรรม หรือสิทธิอย่างอื่น จะเป็นเงินได้จากการที่อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ทรัพย์สินทางปัญญาหรือเงินได้อื่นที่ได้รับเป็นรายปี

4. รายได้จากการลงทุน หรือ เงินฝาก

เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นส่วน

5. เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน

เช่น ค่าเช่าบ้าน ที่ดิน คอนโด รถยนต์ อพาร์ทเม้นท์ หรือทรัพย์สินอื่นๆ รวมทั้งเงินที่ได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายสินค้าเงินผ่อน

6. เงินได้จากวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ

คือ แพทย์ วิศวะ สถาปนิก ผู้ตรวจสอบบัญชี ทนายความและปราณีตศิลปกรรม

7. เงินได้จากการรับเหมา

ซึ่งในที่นี้หมายถึงว่าเราจะต้องเป็นผู้รับเหมาที่ลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนที่สำคัญต่อการทำงานนอกเหนือจากเครื่องมือมาด้วยตัวเอง เช่น การรับเหมาก่อสร้างบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง

8. เงินได้จากธุรกิจ อุตสาหกรรม การพาณิชย์ การเกษตร การขนส่ง หรือการอื่นๆ

นอกจากที่บอกได้ในข้อ 1-7 ด้านบน รวมทั้งเงินได้จากรางวัลหรือจากการชิงโชค

เมื่อเราสามารถบอกได้แล้วว่าเงินที่เราหามาได้ตลอดทั้งปีแต่ละก้อนจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหนใน 8 กลุ่มนี้ เราก็จะต้องมาดูต่อว่าเงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้อย่างไร

เกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายจะมีทั้งแบบเป็นร้อยละหรือแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งการหักตามจริงนี้เราจะต้องมีเอกสารใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแสดงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายแต่ละรายการที่เกี่ยวข้องตามที่เกิดขึ้นจริงมาแสดงเป็นหลักฐานด้วย

เงินได้ประเภทที่ 1 หักค่าใช้จ่ายเหมา 50%
เงินได้ประเภทที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเหมา 50%
  • โดยเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 นี้ ไม่ สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงได้ และยอดค่าใช้จ่ายเมื่อรวมกันทั้ง 2 ประเภทแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้ประเภทที่ 3 หักค่าใช้จ่ายเหมาะ 50% ของเงินได้หรือหักตามจริง (ไม่เกิน 100,000 บาท)
เงินได้ประเภทที่ 4 หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
เงินได้ประเภทที่ 5 เลือกได้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายเหมาตามประเภททรัพย์สินที่ให้เช่าหรือจะหักตามจริง (ตามความจำเป็นและสมควร) โดยอัตราค่าใช้จ่ายคิดดังนี้

  • บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ รถยนต์ หักค่าใช้จ่าย 30%
  • ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่าย 20%
  • ที่ดินไม่ได้ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่าย 15%
  • ทรัพย์สินอื่นๆ หักค่าใช้จ่าย 10%

เงินได้ประเภทที่ 6 หักค่าใช้จ่ายตามจริง (ตามความจำเป็นและสมควร) หรือหักค่าใช้จ่ายเหมาตามประเภทของวิชาชีพดังนี้

  • แพทย์ หักค่าใช้จ่าย 60%
  • วิศวะ สถาปนิก ผู้ตรวจสอบบัญชี ทนายความ ปราณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่าย 30%

เงินได้ประเภทที่ 7 หักค่าใช้จ่ายตามจริง (ตามความจำเป็นและสมควร) หรือหักค่าใช้จ่ายเหมา 60%

เงินได้ประเภทที่ 8 หักค่าใช้จ่ายเหมาตามประเภทของเงินได้ เช่น

  • การเลี้ยงสัตว์ โรงสี โรงเลื่อย โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ฯลฯ หักได้ 60%
  • การแสดง นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ
    • รายได้ 300,000 บาทแรกหักได้ 60%
    • รายได้ส่วนที่เกิน 300,000 หักได้ 30%
    • แต่รวมกันหักได้ไม่เกิน 600,000 บาท

เมื่อทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี จึงควรศึกษาหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้าใจ เพื่อเตรียมเสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วนและจะได้ใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ในการบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง โดยไม่ใช้วิธีที่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องถูกเรียกเสียภาษีเพิ่มเติมภายหลังและไม่ถูกเรียกชำระเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีกด้วย 


เขียนโดย ณภัชชา พงศ์วัฒนกิจกุล ที่ปรึกษาการเงิน CFP
หากใครมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามหรือปรึกษาเพิ่มเติม
ติดต่อ และ ติดตามอัพเดตเรื่องน่ารู้ทางการเงินกับพี่แผน ได้ทาง

วางแผน.com (wangpaan.com)
Line: https://lin.ee/owVcEDk
Facebook: Wangpaan
Twitter: @Wangpaan
Youtube: Wangpaan

อย่าลืมกด Like, Follow และ Subscript จะได้ไม่พลาดข่าวสารสำคัญจากพี่แผนนะครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้