เนื่องจากประกันสุขภาพจะมีทั้งแบบรายปีต่อปี และแบบซื้อควบกับประกันชีวิต ซึ่งดูเผินๆ แล้วอาจเหมือนว่าการซื้อแบบปีต่อปีจะง่ายกว่าค่ะ เพราะไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันชีวิตที่เป็นสัญญาระยะยาว เป็นภาระที่ต้องผูกมัดกันไปนานๆ แต่ทำไมถึงบอกว่า ประกันสุขภาพควรจะต้องซื้อคู่กับประกันชีวิตแบบระยะยาวละคะ
หากคิดให้ดี การซื้อประกันสุขภาพแบบมีการผูกมัดยาวๆ ข้อดีคือหากเมื่อเรามีปัญหาสุขภาพเมื่อไหร่ เราจะสามารถซื้อประกันสุขภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ได้ตราบเท่าที่สัญญาประกันชีวิตหลักยังมีผลบังคับอยู่นะคะ พูดง่ายๆ ก็คือ บริษัทประกันจะมาปฏิเสธการขายประกันสุขภาพเราไม่ได้ แต่ถ้าเราซื้อแบบปีต่อปี เมื่อไหร่ที่เราเป็นโรคร้ายแรง ทุกบริษัทประกันมีสิทธิ์ไม่รับทำประกันสุขภาพให้เราได้ค่ะ
นอกจากควรซื้อควบประกันชีวิตแล้ว ยังต้องเลือกเป็น ประกันชีวิตแบบระยะยาว ด้วยค่ะ หากควบกับแบบสั้นๆ เช่นแบบออมทรัพย์ 10 ปี เมื่อประกันออมทรัพย์ครบสัญญา มีผลให้ประกันสุขภาพสิ้นสุดไปด้วยนะคะ
บางคนอาจคิดง่ายๆ ว่า สัญญาสุขภาพหมดก็ซื้อใหม่สิคะ ซึ่งก็สามารถซื้อได้จริงๆ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า สุขภาพของเรายังไม่มีปัญหา ถ้ามีปัญหาอาจเจอเงื่อนไขรับประกันสุขภาพแบบเพิ่มเบี้ยหรืออาจไม่รับเลยก็ได้ค่ะ
อีกทั้งตัวประกันที่เป็นประกันชีวิตหลักก็ไม่ใช่เบี้ยทิ้งค่ะ เพราะเงินตามทุนประกันชีวิตนี้ เราจะได้คืนในอนาคต เปรียบเสมือนกึ่งๆการออมเงิน โดยจะได้คืนเมื่อเราจากไปหรือเมื่อเรามีอายุครบตามที่สัญญากำหนด
เช่น แบบประกันเมืองไทยสมาร์ทโพรเทคชั่น 99/20 คือแบบประกันที่จะครบกำหนดสัญญาเมื่อเราอายุครบ 99 ปีก็จะได้เงินตามทุนเอาประกันคือ ยิ่งอายุน้อยจะยื่งจ่ายเบี้ยประกันชีวิตหลักน้อย เพราะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตน้อยนั่นเอง จึงทำให้มีส่วนต่างของเงินที่จ่ายเบี้ยประกันกับเงินที่ได้คืนเมื่อสื้นสุดสัญญา
โดยเงินคืนนี้จะทำให้เราเหมือนมีการส่งมอบมรดกให้แก่คนที่อยู่ข้างหลังในวันที่เราจากไป โดยที่เป็นเงินที่ผู้รับผลประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และไม่ต้องเสียภาษีมรดก เป็นการดูแลค่าใช้จ่ายให้คนที่เรารัก ช่วยให้สามารถอยู่ได้อย่างไม่ลำบากหรือเป็นทุนการศึกษาให้บุตรมีอนาคตที่ดีต่อไปค่ะ
เขียนโดย ณภัชชา พงศ์วัฒนกิจกุล, CFP® นักวางแผนการเงินคุณวุฒิวิชาชีพ Certified Financial Planner™ รับรองโดยสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
หากใครมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามหรือปรึกษาเพิ่มเติม
ติดต่อ และ ติดตามอัพเดตเรื่องน่ารู้ทางการเงินกับพี่แผน ได้ทาง
วางแผน.com (wangpaan.com)
Line: @Wangpaan
Facebook: Wangpaan
Twitter: @Wangpaan
Youtube: Wangpaan
อย่าลืมกด Like, Follow และ Subscript จะได้ไม่พลาดข่าวสารสำคัญจากพี่แผนนะครับ